ยกย่อง "พยาบาล" รพ.ตร. ช่วยผู้สูงอายุหมดสติที่ญี่ปุ่น ให้กลับมามีชีพจรอีกครั้ง

ยกย่อง "พยาบาล" รพ.ตร. ช่วยผู้สูงอายุหมดสติที่ญี่ปุ่น ให้กลับมามีชีพจรอีกครั้ง

 

ยกย่อง "ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง สุนารี เขียวสลับ" พยาบาล รพ.ตร. ช่วยชีวิตผู้สูงอายุหมดสติที่สถานีรถไฟใต้ดิน ประเทศญี่ปุ่น จนกลับมามีชีพจรอีกครั้ง

วันที่ 24 ม.ค. 68 ที่โรงพยาบาลตำรวจ พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า รักษาราชการแทนพยาบาล (สบ 6) โรงพยาบาลตำรวจ ในฐานะโฆษกโรงพยาบาลตำรวจ

กล่าวว่า พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) ขอบคุณสื่อมวลชน และประชาชนที่ร่วมแสดงความชื่นชม และให้กำลังใจ ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง สุนารี เขียวสลับ พยาบาล (สบ 1)

สังกัดกลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ/ปฏิบัติงานกลุ่มงานพยาบาลตึกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ชั้น 13 โรงพยาบาลตำรวจ ที่ให้ความช่วยเหลือชายผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น

ที่หมดสติล้มลงกับพื้น บริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน Ginza Line สถานี Asakusa จังหวัด Tokyo ประเทศญี่ปุ่น ขณะเดินทางท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น

โดยใช้ทักษะทางวิชาชีพในการประเมินอาการ ระดับความรู้สึกตัว และสัญญาณชีพ ชายสูงอายุที่ไม่รู้สึกตัว คลำชีพจรไม่ได้ จึงทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)

และแจ้งขอเครื่อง AED จากเจ้าหน้าที่ประจำสถานีรถไฟใต้ดิน เมื่อเครื่อง AED มาถึง ได้หยุด CPR และติดแผ่น Paddle AED เตรียมใช้ เครื่อง AED ชายสูงอายุได้กลับมามีชีพจร จึงไม่ได้ทำการ shock ไฟฟ้าหัวใจ

ต่อมาเจ้าหน้าที่กู้ชีพมาถึงที่เกิดเหตุ ติดต่อหาญาติและเรียกรถพยาบาลนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาต่อไป จนเป็นข่าวดังทั้งในประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย

และอีกหลายๆ ประเทศ เพราะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย และเป็นข้าราชการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อีกทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่รักษาดูแลสุขภาพผู้ป่วยอย่างเต็มที่

ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง สุนารี เขียวสลับ ได้รับใบประกาศเกียรติคุณความดีจาก พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8)

ในฐานะบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือกิจการสาธารณะหรือมีจิตสาธารณะเป็นที่ประจักษ์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 โรงพยาบาลตำรวจได้เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)

หรือการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพราะช่วยลดภาวะความเสี่ยงการเสียชีวิตให้กับผู้ป่วย มีการให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจทุกนาย

โดยจัดให้มีการอบรมอย่างต่อเนื่องมุ่งหวังให้บุคลากรของโรงพยาบาลตำรวจมีความรู้ขั้นพื้นฐานในการช่วยชีวิตเบื้องต้น หากประสบพบเห็นสามารถนำความรู้ขั้นพื้นฐานไปช่วยผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง

ปีที่ผ่านมา พ.ต.อ.ณัฐพล ปิตะนีละบุตร นายแพทย์ (สบ 5) โรงพยาบาลตำรวจ/ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลตำรวจ

จัดการอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ให้บุคลากรของโรงพยาบาลตำรวจ, นักเรียนนายร้อยตำรวจ, สมาคมแม่บ้านตำรวจ

รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตปทุมวัน อีกทั้งให้ความรู้กับประชาชน และเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการตำรวจรักษ์ประชาชน ร.ต.ท.หญิง สุนารี และ พ.ต.ท.นายแพทย์อภิวัฒน์ จันทร์แสงฟ้า

นายแพทย์ (สบ 3) กลุ่มงานกุมารเวชกรรม รพ.ตร. ยังได้สาธิตการทำ CPR กับหุ่นในการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ประสบเหตุ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน

ด้าน ร.ต.ท.หญิง สุนารี เปิดเผยว่า ขอบคุณทุกคนที่ชื่นชมจริงๆ ตัวเองเป็นบุคลากรทางการแพทย์ได้ฝึกมาจากกลุ่มงานพยาบาลมีการฝึกให้ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจนไปถึงระดับสูง

ซึ่งมีการฝึกเป็นประจำอยู่แล้ว การได้ไปช่วยผู้ป่วยสูงอายุให้กลับมาฟื้นคืนชีพในต่างประเทศรู้สึกภูมิใจและดีใจที่สามารถช่วยชีวิตได้ และสร้างชื่อเสียงให้โรงพยาบาลและประเทศไทย

ตอนนั้นเมื่อพบเจอเหตุการณ์ก็รู้สึกตกใจ แต่ก็ต้องตั้งสติและได้ประเมินอาการจึงรีบช่วยให้ทันท่วงทีโดยการเริ่ม CPR โดยใช้เวลาช่วยประมาณ 2 นาที

จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของรถไฟฟ้าใต้ดินประสานรถพยาบาลมาอย่างรวดเร็วเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้วจึงเดินทางไปวัดต่อ

พ.ต.ท.นายแพทย์อภิวัฒน์ กล่าวว่า เวลาผู้ป่วยหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น จริงๆ มีโอกาสเสียชีวิตสูงอยู่แล้ว การรีบเข้าไปช่วยกดหน้าอกและติดเครื่อง AED

จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ ทุกครั้งที่เข้าไปช่วยไม่สามารถตอบได้ว่าผู้ป่วยจะฟื้นหรือไม่ฟื้นแต่การเข้าไปช่วยอย่างรวดเร็วมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากยิ่งขึ้นและมีสมองที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น

เนื่องจากสมองขาดเลือดได้ไม่ถึง 10 นาทีหากขาดเลือดเกิน 10 นาทีจะทำให้สมองตายถาวร แม้จะฟื้นกลับมาก็อาจจะพิการได้

สำหรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการช่วยชีวิตเบื้องต้นขอให้ทุกคนรีบเข้าไปช่วย อย่ารีรอในการเข้าไปช่วยชีวิตผู้ป่วยให้เข้าไปประเมินอาการเบื้องต้นก่อน

หน้าที่ของเราเมื่อพบเจอผู้ป่วยเป็นหน้าที่จะต้องช่วยกู้ชีพเบื้องต้น ด้วยการกู้ชีพประกอบไปด้วยการกดหน้าอกและการใช้เครื่อง AED เพื่อให้เลือดได้ไปเลี้ยงสมองก่อน

ระหว่างรอทีมแพทย์ขั้นสูงมาช่วยต่อไป ทางโรงพยาบาลตำรวจได้มีการจัดฝึกอบรมและสอนการกู้ชีพอยู่เป็นประจำ โดยปีที่ผ่านมามีการสอนไป 1,500 คน.